ประวัติวัดป่าภัทรปิยาราม

 ประวัติความเป็นมา

            ในอดีตสถานที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นเพียงแหล่งที่พักของพระสงฆ์ซึ่งยังไม่มีชื่อเรียกเป็นที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นสถานที่   ที่มีลักษณะค่อนข้างเงียบสงบและสันโดษ กล่าวคือ มีแมกไม้ขึ้นปกคลุมอย่างร่มรื่นล้อมรอบไปด้วยภูเขาและตั้งอยู่ทามกลางป่าไม้ใหญ่ มีช่องเขาอยู่ระหว่างกลางจึงทำให้มีลมพัดผ่านเย็นสบายตลอดทั้งปี อีกทั้งในวัดยังมีถ้ำต่างๆอยู่หลายแห่งหลายที่มีลักษณะสงบร่มเย็น จึงถือว่าเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมของพระธุดงค์กรรมฐาน จึงทำให้มีพระนักปฏิบัติสายกรรมฐานแวะเวียนมาพักเพื่อปฏิบัติธรรมอยู่อย่างต่อเนื่องและสลับสับเปลี่ยนกันเรื่อยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๖๐ ปี อาทิเช่น  พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ หรือ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ,  พระราชวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์, หลวงปู่เรือง อาภสฺสโร. วัดเขาสามยอด จ.ลพบุรี เป็นต้น 

ในเวลาต่อมา พระอธิการนิพนธ์ ชวพันโธ ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอจัดตั้งแหล่งที่พักของพระสงฆ์แห่งนี้ให้กลายเป็นวัด โดยใช้ชื่อว่า “วัดป่าภัทรปิยาราม” โดยมีประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๐ และพระอธิการนิพนธ์ ชวพันโธ ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ณ วัดป่าภัทรปิยาราม แห่งนี้เป็นรูปแรก และภายใน ๔ ปี ต่อมาพระอธิการนิพนธ์ ชวพันโธ ได้มรณภาพลงในวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงทำให้วัดป่าภัทรปิยารามว่างเว้นจากการมีเจ้าอาวาสปกครองวัดและพระสงฆ์ จึงทำให้มีเพียงพระลูกวัดที่อยู่จำพรรษา จำนวน ๑-๒ รูป เท่านั้น

การที่วัดได้ขาดเจ้าอาวาสซึ่งเป็นเป็นผู้นำในการสืบสานพระศาสนานั้นทำให้ภายในบริเวณวัดขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังจึงส่งผลให้ศาสนสถานสิ่งปลูกสร้างต่างๆภายในวัดเสื่อมชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลาจนมีสภาพกลายเป็นวัดร้าง

ต่อมาความดังกล่าวได้ทราบถึงคณะสงฆ์เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ประชุมสงฆ์กัน และได้มี คำสั่งแต่งตั้งพระครูสังฆรักษ์ ณริชธันร์ อรุโณ (ศรีอิทธิมนต์) ซึ่งเดิมท่านจำพรรษา ณ วัดเวฬุวัน (เขาจีนแล) ให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ในวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน และถือว่าเป็นเจ้าอาวาสรูป     ที่ ๒ ของวัดป่าภัทรปิยาราม

โดยลักษณะภูมิประเทศของสถานที่ตั้งวัดป่าภัทรปิยาราม เป็นสถานที่ร่มรื่นและเงียบสงบเหมาะแก่การเจริญจิตภาวนา พระครูสังฆรักษ์ ณริชธันร์ อรุโณ จึงได้มีดำริที่จะพัฒนาอาณาบริเวณ ณ วัดแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ธรรมะกับธรรมชาติย่อมสามารถอยู่คู่กันอย่างยั่งยืน” เพื่อให้เป็นศาสนประโยชน์ แก่ชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปให้ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้ให้เป็นประโยชน์ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งบวรพุทธศาสนา รวมถึงเพื่อเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศความหลายทางธรรมชาติ ชีวภาพ ของสัตว์ป่าและพรรณไม้ต่างๆที่อยู่ภายในอาณาบริเวณวัดให้ยั่งยืนถาวรสืบไป

           พระครูสังฆรักษ์ ณริชธันร์ อรุโณ ท่านเป็นพระนักพัฒนาและเป็นพระนักปฎิบัติได้อุทิศกำลังกาย กำลังใจ และเวลาทั้งหมดให้แก่บวรพระศาสนา ซึ่งท่านเป็นกำลังหลักขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อดำเนินการบรูณะ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพลิกพื้นวัดป่าภัทรปิยาราม จากสภาพเสื่อมโทรมจากเดิมเป็นพื้นที่รกร้างให้กลับมาเป็นศาสนสถานอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ใกล้เคียงและพุทธศาสนิกชนจากแดนไกลได้สำเร็จเสร็จสิ้นกลายเป็นวัดพร้อมศาสนสถานที่มีสภาพสมบูรณ์ จึงทำให้พุทธศาสนิกชนที่มีเลื่อมใสได้หลั่งไหลเข้ากราบไหว้สักการะขอพร ด้วยความศรัทธา และปวารณาตนเป็นศิษย์ยกถือให้เป็นครูบาอาจารย์น้อมนำแสงพระธรรมสู่ธรรมะ (ครั้นก่อนท่านมาบวชนั้นเดิมท่านดำรงตำแหน่งเป็นถึงผู้บริหารองค์กร ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม องค์กรมหาชนแห่งหนึ่ง) ท่านจึงได้นำความรู้ความสามารถจากการปฏิบัติงานแต่ครั้งก่อนมา ประยุกต์ใช้กับการพัฒนาวัดและศาสนสถานภายในวัด, อบรมสั่งสอนบรรยายธรรมแก่ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมและผู้ที่มาอาศัยอยู่ที่วัด)

พระครูสังฆรักษ์ ณริชธันร์ อรุโณ ท่านใช้ระยะเวลาเพียง 5 ปีเศษ (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ที่ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสฯ) ได้วิจิตรบรรจงสร้างศาสนสถานถาวรวัตถุให้เห็นเด่นเป็นตระหง่านตาแก่ผู้ได้มาเยือนและอยู่คู่กับ   วัดป่าภัทรปิยาราม อาทิเช่น อาคารสวดมนต์พรพิจิตรบรรเจิด,จิตรกรรมพุทธศิลป์ผนังถ้ำสุวรรณคูหามัฆวานวินิจฉัย,พระพุทธยมกปาฏิหาริย์เหนือยอดเขาวัดป่าภัทรปิยาราม, พระอุโบสถโลหะสัมฤทธิ์เจดีย์ทรงอัฐทิศ (ทรง 8 เหลี่ยม) ,พระพุทธมณีรัตนอัมรินทร์สถิตพระพุทธประธานในพระอุโบสถ ,พิพิธภัณฑ์อรุโณโลกุตตระศรีอิทธิมนต์, หลวงปู่เทพโลกอุดรนั่งบัลลังก์พญานาคคู่ และพญานาคราชศีลวิสุทธิ์โลกาธิบดี เป็นต้น

 อีกทั้งท่านยังเป็นพระที่เมตตาเปี่ยมล้น พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ คือคำกล่าวและคำยืนยันบอกเล่าจากบรรดาลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้หรือไกลไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูง  (ข้าราชการทหาร (ทุกเหล่าทัพ), ข้าราชการตำรวจหรือข้าราชการพลเรือนกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ)  รัฐวิสาหกิจและธุรกิจภาคเอกชนต่างๆ รวมไปถึงบรรดากัลยามิตรผู้มีจิตศรัทธาที่ได้เข้าพบท่านกราบสักการะขอเพื่อพรและรวมถึงสนทนาธรรมกับท่าน    ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า คำสอนของท่านนั้นเป็นคำสอนที่บูรณาการจากหลากหลายศาสตร์ต่างๆมารวมกัน  ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรมประติมากรรม, สถาปัตยกรรม, วิศวกรรม, วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ วนศาสตร์  ภาษาศาสตร์ และที่ขาดไม่ได้ก็คือพุทธศาสตร์ เป็นต้น นำศาสตร์มาออกแบบประยุกต์ได้อย่างลงตัว คำสอนของท่านนั้นยังสามารถนำมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตด้วยการอธิบายขยายความแบบเข้าใจง่ายพร้อมยกตัวอย่างทำให้เกิดจินตภาพ เพื่อนำไปต่อยอดให้ประสบความสำเร็จทั้งหน้าที่การงาน ธุรกิจและในการดำเนินชีวิตได้เป็นผลสำเร็จอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่าวัดป่าภัทรปิยารามนั้นเป็นวัดที่มีสำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรีที่บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาต้องการไปสักการะและร่วมทำบุญ โดยมีพระครูสังฆรักษ์ณริชธันร์   อรุโณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันผู้น้อมนำคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ใช้หลัก“ธรรมะกับธรรมชาติย่อมสามารถอยู่คู่กันอย่างยั่งยืน”เป็นที่ดึงดูดทำให้ผู้มีจิตศรัทธาได้หลั่งไหลเข้ามาเพื่อปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะควบคู่กับสภาวะการอนุรักษ์ธรรมชาติสืบต่อไป


ที่ตั้งและอาณาเขต

            วัดป่าภัทรปิยาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี มีเนื้อที่โดยประมาณ ๒๗ - ๓๕ไร่ ทางด้านทิศเหนือและทางด้านทิศตะวันออกติดกับเทศบาลตำบลโคกตูม ทางด้านทิศไต้ติดกับวัดถ้ำม่วง  และทางด้านทิศตะวันตกติดกับวัดถ้ำเสือ

 

 

ความหลากหลายทางธรรมชาติ

            เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศภายในบริเวณวัดป่าภัทรปิยาราม กอปรด้วยภูเขาสองลูกยกตัวชนกัน (ประกอบด้วย หินยุคเพอร์เมียน หมวดหินเขาขาด และ หินอัคนีแทรกซ้อนชนิดหินแกรนิต ยุคไทรแอสซิก หินลักษณะนี้มีห้วงอายุประมาณ ๒๔๕ – ๒๑๐ ล้านปี) บริเวณที่ราบเชิงเขาทั้งสองเป็นสถานที่ตั้งของศาสนสถาน    อันประกอบไปด้วย ศาลากุฏิสงฆ์ และพระอุโบสถโลหะสัมฤทธิ์เจดีย์  ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขานี่เองทำให้บริเวณพื้นที่ราบปกคลุมไปด้วยพรรณไม้ในป่าเบญจพรรณ เช่น แดง ผ่าเสี้ยน แคหางค่าง และ ขี้หนอน เป็นต้น ส่วนบริเวณที่อยู่ภูเขาฝั่งทางด้านทิศเหนือ ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าไผ่เนื่องจากมีปริมาณหินโผล่ไม่มากนักและยังมีหน้าผาที่เด่นชัด นอกจากนั้นยังมีพรรณไม้ยืนต้นปกคลุมปะปนอยู่กับไม้ไผ่ เช่น สะท้อน โพธิ์ขี้นก คงคาเดือด และ งิ้วป่า เป็นต้น ส่วนภูเขาที่อยู่ฝั่งทางด้านทิศไต้มีลักษณะเป็นเขาหินปูนมีลักษณะที่ชัดเจนมีปริมาณหินโผล่ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นไม้จึงมีลักษณะแคระแกรนและส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นจำเพาะกับภูเขาหินปูน เช่น   ไทรใบมน มะยมผา ปอเก็ดแรด และ จันทน์ผา เป็นต้น นอกจากนั้นเขาบริเวณนี้ยังมีการสำรวจพบโพรงถ้ำขนาดใหญ่และได้ตั้งชื่อไว้ว่า ถ้ำศรีอิทธิมนต์  ซึ่งภายในถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกค้างคาวจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ ตัว นอกจากนั้นป่าภายในบริเวณวัดแห่งนี้ยังปรากฏ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หลายชนิด เช่น กระต่ายป่า ค้างคาวถ้ำ และ กระรอกหลากสี เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูจงอาง งูเหลือม งูเขียวพระอินทร์ และ ตุ๊กแกป่า เป็นต้น อีกทั้งยังมีสัตว์จำพวกนก เช่น กลุ่มนกปรอด นกจับแมลง เป็นต้น ซึ่งถือว่าภายในพื้นที่ วัดป่าภัทรปิยารามมีความหลากหลายของทรัพยากรทางธรรมชาติค่อนข้างสูง อาจสืบเนื่องมาจากพื้นที่โดยรอบบริเวณวัดเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรทำเกษตรกรรมจึงทำให้สัตว์ป่าเหล่านี้อพยพมาอาศัยอยู่ภายในบริเวณวัดมากขึ้น ดังนั้นการที่รักษาพื้นที่รวมถึงฟื้นฟูป่าภายในวัดไว้เป็นอย่างดีนั้น นอกจากเพื่อความร่มรื่นสำหรับปฏิบัติธรรมแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายของทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้ไว้ด้วย นอกจากนั้นยังทำให้ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติได้สัมผัสกับธรรมชาติที่แท้จริงอันจะนำไปสู่ความอ่อนโยนของจิตใจแก่สาธุชนต่อไป